วันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนต้น EGD

การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนต้น
EGD

การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนต้น คืออะไร?

   


             การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนต้น ( upper GI endoscopy ) เป็นเทคนิคพิเศษสำหรับการตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนต้น ซึ่งรวมถึงหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น โดยใช้กล้องที่มีลักษณะยาว เล็ก และโค้งงอได้ มีกล้องวิดีโอขนาดเล็ก และหลอดไฟอยู่ที่ส่วนปลาย ซึ่งแพทย์สามารถบังคับกล้องเข้าไปในระบบทางเดินอาหารได้อย่างปลอดภัย และทำการตรวจสอบผนังของระบบทางเดินอาหารส่วนต้น โดยภาพที่กล้องบันทึกได้จะปรากฎบนจอโทรทัศน์ที่ให้คุณภาพความคมชัดสูง ชัดเจน และมองเห็นรายละเอียดได้ในหลายๆ กรณี การตรวจสอบด้วยการส่องกล้องจะให้ความแม่นยำมากกว่าการเอ็กซเรย์ (x-ray) 


ทำไมจึงต้องส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนต้น?


 การส่องกล้องตรวจจะทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการดังนี้

- กลืนลำบาก
- อาเจียนเป็นเลือด
- ปวดท้องจุกแน่นลิ้นปี่



            การใช้กล้องส่องจะทำให้เห็นเยื่อบุกระเพาะอาหารเพื่อดูการอักเสบ ดูแผล ดูเนื้องอก นอกจากนั้นยังสามารถตัดเนื้อเพื่อนำชิ้นเนื้อไปตรวจหารเซลล์มะเร็ง เพาะเชื้อเพื่อหาเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนั้นยังใช้การส่องกล้องเพื่อรักษาเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร





การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการส่องกล้อง

- แจ้งข้อมูลให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับโรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยา/สารเคมี ยาที่รับประทานเป็นประจำ และประวัติการผ่าตัด
- ห้ามรับประทานอาหารและเครื่องดื่มใดๆทั้งสิ้น ภายใน 8-10 ชั่วโมง ก่อนเข้ารับการตรวจ เนื่องจากเศษอาหารในกระเพาะอาหารจะขัดขวางการทำงานของกล้อง และเกิดการอาเจียนได้
- ถ้ามีฟันปลอมชนิดถอดได้ ต้องถอดออกก่อน
- ควรมีญาติติดตามมาด้วย
- งดยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเกร็ดเลือด

ขั้นตอนในการตรวจส่องกล้อง

1. เมื่อผู้ป่วยเดินทางมาถึงห้องตรวจ วันเวลาตามนัดหมายจะได้พบเจ้าหน้าที่พยาบาลที่จะให้การดูแลตลอดระยะเวลาที่ผู้ป่วยได้รับการตรวจ
2. พยาบาลจะทำการซักประวัติ วัดความดัน และพาผู้ป่วยไปเปลี่ยนเสื้อผ้าสำหรับส่องกล้อง
3.ในห้องตรวจผู้ป่วยจะได้รับการพ่นยาชาเฉพาะที่ลงในลำคอ เพื่อให้เกิดอาการชาบริเวณลำคอ ( ยาชาที่ใช้ผู้ป่วยสามารถกลืนยาลงไปได้โดยไม่เกิดอันตราย )
4. พยาบาลในทีมตรวจส่องกล้องจะจัดท่าที่เหมาะสมในการตรวจส่องกล้อง ( นอนตะแคงซ้าย ) หลังจากที่ยาชาออกฤทธิ์แล้ว
5. แพทย์จะอุปกรณ์ป้องกันการกัดในปากผู้ป่วย
6. แพทย์จะเริ่มใส่กล้องทางปากเพื่อเริ่มการตรวจส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนบน ใช้เวลาประมาณ 10-20 นาที
7. เมื่อแพทย์ทำการตรวจเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะถอนกล้องออกจากปาก พยาบาลจะเช็ดปากทำความสะอาดให้ผู้ป่วย จากนั้นจะให้ผู้ป่วยไปเปลี่ยนเสื้ิอผ้า และนัดคุยอาการกับแพทย์



การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยขณะรับการตรวจ

- หายใจเข้าออกทางจมูก ช้าๆ ลึกๆ ยาวๆ
- ปล่อยตัวตามสบาย ไม่เกร็ง ไม่วิตกกังวล
- มีน้ำลายในปาก ให้ปล่อยน้ำลายไหล ไม่ควรกลืนน้ำลายเพราะอาจทำให้เกิดการสำลัก



หลังรับการตรวจส่องกล้องแล้ว ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

1. ห้ามดื่มน้ำจนกว่าคอจะหายชา ( ประมาณครึ่งชั่วโมง อาการชาจะเริ่มหายไป) หลังจากคอหายชาแล้ว ให้ทดลองจิบน้ำ ถ้าไม่มีอาการกลืนลำบาก หรือสำลัก สามารถดื่มน้ำได้ตามปกติ
2.หลังการตรวจส่องกล้อง น้ำลายที่บ้วนออกมาอาจมีเลือดปนเล็กน้อย แต่ถ้ามีอาการมากผิดปกติให้รีบรายงานแพทย์
3. ภายหลังการตรวจ อาจมีอาการเจ็บคอเล็กน้อย
4. ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหารร้อนๆ ภายหลังรับการตรวจ 8 ชั่วโมง
5. ควรรับประทานอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด  เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม เป็นต้น ประมาณ 1- 2 วัน
6. สามารถออกกำหลังกาย หรือทำงานได้ตามปกติ
7. ในรายที่ผู้ป่วยได้รับยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือดดำ ห้ามขับรถ หรือทำงานกับเครื่องจักร อย่างน้อย 24 ชั่วโมง
8. ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ปวดมากบริเวณลำคอ หน้าอก ท้อง หรือหายใจลำบาก มีไข้สูง ควรรีบมาพบแพทย์
9. ควรมาพบแพทย์ ตามวันเวลานัดหมาย


* หากมีข้อสงสัย ให้โทรมาที่เบอร์ 02-5347987
 

ศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร Published @ 2014 by Ipietoon

Blogger Templates